วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

แชร์ประสบการณ์ ดื่มมากิพลัสกับผู้ป่วยโรคไต

ด้วยเหตุที่โรคไตมีหลายชนิด อาการของผู้ป่วยจึงมีความแตกต่างกันไป โรคไตบางชนิดพอเริ่มเป็นทั้งๆที่ไตยังไม่เริ่มเสียก็จะมีอาการออกมาให้เห็น เช่น ผู้ป่วยโรคไตอักเสบชนิดเฉียบพลันผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ ตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดโลหิตแดงและไข่ขาว

สัญญาณเตือน! คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคไต

โรคไต เป็นคำกว้างๆ ที่บ่งชี้ถึงการมีความผิดปกติที่บริเวณไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุของโรคไต ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคไตอักเสบ นิ่วที่ไต โรคเนื้องอกที่ไต เป็นต้น และยังมีโรคประจำตัวที่สามารถทำให้เกิดโรคไตเสื่อมเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยโรคที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด

 

อาการที่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคไต คือ

      อาการทางระบบปัสสาวะ

ปัสสาวะเป็นเลือด ( bloody urine) ในภาวะปกติ ปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเข้ม ขึ้นกับปริมาณน้ำที่รับประทานในขณะนั้นๆ แต่ถ้ามีลักษณะมีเลือดปนที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือลักษณะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

ปัสสาวะแสบขัดหรือปัสสาวะลำบาก การที่เวลาขับถ่ายปัสสาวะมีอาการแสบขัด มักเกิดจากการอักเสบของท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งบ่งชี้ถึงการติดเชื้อหรืออาการปัสสาวะลำบาก อาจเกิดจากการอุดกลั้นของทางเดินปัสสาวะ โรคที่พบบ่อยอันได้แก่ ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย

ปัสสาวะมีฟอง การที่คนเราปัสสาวะมีฟอง เกิดจากการมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง หรือเกิดจากโรคไตชนิดเนฟโฟรติก ซึ่งจะมีอาการบวมบริเวณหนังตาในตอนเช้าหรือถ้าเป็นมากอาจมีอาการบวมทั้งร่างกาย ร่วมกับปัสสาวะเป็นฟองปริมาณมาก

ปัสสาวะมีกรวด/ทรายออกมา ลักษณะกรวดหรือทรายที่ออกมาเป็นตัวบ่งชี้ว่า มีนิ่วอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจจะมีอาการปวดเอว ปวดหลังร่วมด้วย ในบางรายอาจพบร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือด

ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ในภาวะปกติ คนเราภายหลังการนอนหลับจะไม่ได้มีดื่มน้ำ ไตจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะลดลงและถูกเก็บในกระเพาะปัสสาวะ ในช่วงเวลาที่เรานอนหลับ จึงไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ แต่ถ้าไตมีความผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถดูดกลับน้ำได้เท่าปกติ จะทำให้ผู้ป่วยต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยมากขึ้น

นอกจากนี้ภาวะปัสสาวะบ่อยอาจไม่ได้เกิดจากโรคไตเรื้อรังเท่านั้น อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคเบาจืด ก็ได้

ในคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคไต สามารถลุกขึ้นมาปัสสาวะได้ช่วงกลางคืน 1-2 ครั้งขึ้นกับปริมาณน้ำที่ดื่มในช่วงก่อนนอน


 อาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง

มีอาการบวมในร่างกาย อาการบวมนั้น เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ที่เกี่ยวข้องกับโรคไต คือ เกิดจากไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือได้อย่างปกติ จนเกิดการคั่งของน้ำและเกลือ จนเกิดอาการบวมหรืออาจเกิดจากโปรตีนไข่ขาวรั่วออกไปทางปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบวม เช่น โรคไตชนิดเนฟโฟรติก ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

อาการคันตามตัว /คลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร /ภาวะโลหิตจาง

อาการเหล่านี้นั้นไม่จำเพาะต่อโรคไต เป็นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคไต แต่ในโรคไตเรื้อรังนั้น จะทำให้มีอาการเหล่านี้ได้ โดยอย่างไรก็ตามถ้ามีอาการเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคไต มักเกิดในโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต

 

อาการอื่นๆ

ปวดเอว อาการปวดนั้นอาจจะพบที่บริเวณเอวเกิดจากรอยโรคที่บริเวณไต ซึ่งอยู่บริเวณหลังเอวทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุมักเกิดจาก นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากโรคถุงน้ำที่ไต หรือเนื้องอกของไตได้

ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติหรือความดันโลหิตสูงที่คุมได้ยากโดยจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในการควบคุม สาเหตุอาจเกิดจากโรคไตโดยโรคไตที่นึกถึงคือ ภาวะเส้นเลือดแดงของไตตีบ โรคไตอักเสบหรือโรคไตเรื้อรัง

 

อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยโรคไต ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อที่แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรค ควบคุมรักษาที่สาเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น แนะนำต้องรีบเข้ารับการการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

 

บทความโดย

นพ. ธาวิน ศรีนุต แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรศาสตร์และโรคไต

ประจำศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง และศูนย์ล้างไต

โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ (WMC)